วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อสอบปลายภาค

ข้อสอบปลายภาค
คำสั่งข้อสอบมีทั้งหมด 7  ข้อ ให้นักศึกษาทำทุกข้อ ห้ามลอกกันเขียนคำตอบโดยใช้สำนวนเหมือนกันถือว่ามิใช่ความคิดของนักศึกษาเอง ปรับให้ตกทั้งคู่ ข้อละ 10 คะแนน
______________________________________________________
1. กฎหมายทั่วไปกับกฎหมายการศึกษา มีที่มาความเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร อธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างประกอบอย่างย่อ ๆ ให้ได้ใจความพอเข้าใจ.
ตอบ      
กฎหมายทั่วไป  มีที่มาแตกต่างจาก  กฎหมายการศึกษา  ด้วยเหตุเพราะ  กฎหมายทั่วไป  เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเป็นหลักประกัน  หรือพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายปกครอง  ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครองที่ใช้เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ  ซึ่งโดยข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมหนึ่ง ๆ  ทำให้เห็นได้ว่า  ลำพังเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษร นั้น ถึงแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก  แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม  เพราะสังคมพัฒนาไป  ความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ของปัจเจกชนกับรัฐก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา  ดังนั้น การพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปขึ้นมาใช้เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายโดยศาล  จึงเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมทุกสังคม   อันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบการเมืองการปกครองและรากฐานของระบบกฎหมายในสังคมนั้น ๆ มาพัฒนาเป็นหลักกฎหมายทั่วไปใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ศาลเป็นผู้นำหลักอันเป็นนามธรรมมาใช้เป็นหลักที่เป็นรูปธรรมนั้นเอง
              แต่ กฎหมายการศึกษาในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับการศึกษา  ที่มีที่มาสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุนให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
…………………………………………………………………………………………………………

2. รัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการศึกษา มีสาระหลักที่สำคัญอย่างไร ในประเด็นอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ยกตัวอย่างประกอบ พอเข้าใจ (รัฐธรรมนูญตั้งแต่แต่ฉบับแรกถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2550)
ตอบ
สิทธิ เสรีภาพในด้านการศึกษานั้นได้เริ่มรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช  2475  ภายในบังคับแห่งบทกฎหมายบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ใน……      การศึกษาอบรม……   การอาชีพโดยมาตรานี้ได้รับรองเสรีภาพในการศึกษาอบรมของบุคคลโดยทั่วไป  รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2489  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2490  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และฉบับอื่นๆนั้นได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการศึกษาอบรมของประชาชนโดยทั่วไป  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้การได้รับการศึกษาเป็นสิทธิ   “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ.....และในมาตราเดียวกันก็ได้รับรองเสรีภาพในการศึกษาอบรมของคนโดยทั่วไปอีกด้วย
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  มีสาระหลักที่สำคัญว่า  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย การจัดการศึกาาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ ตามที่ กฎหมายบัญญัติ การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ   รัฐต้องจัดการศึกษาอบรมและสนับสนุน ให้เอกชนจัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม จัดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างเสริมความรู้ และปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยในศิลปวิทยาการต่าง ๆ เร่งรัดพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ
              รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  ก็มีสาระที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  คือ  บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
.............................................................................................................
3. พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ มีกี่มาตรา และมีความสำคัญอย่างไร และประเด็นหรือมาตราใดที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติและต้องยึดถือปฏิบัติ 
ตอบ
พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545  มี 20 มาตรา  
มีความสำคัญ เนื่องด้วย   เหตุผลในการประกาศให้พระราชบัญญัติฉบับนี้  คือโดยที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติได้กำหนดให้บิดา  มารดา  หรือผู้ปกครองมีหน้าที่จัดให้บุตรหรือบุคคลซึ่งอยู่ในความดูแลได้รับการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี  โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก  เว้นแต่จะสอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ   จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการประถมศึกษา  เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ประเด็นหรือมาตราที่ผู้ปกครองต้องปฏิบัติและต้องยึดถือปฏิบัติ  ได้แก่
มาตรา  6  ให้ผู้ปกครองส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา   เมื่อผู้ปกครองร้องขอ  ให้สถานศึกษามีอำนาจผ่อนผันให้เด็กเข้าเรียนก่อนหรือหลังอายุตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้  ทั้งนี้  ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
มาตรา  11  ผู้ใดซึ่งมิใช่ผู้ปกครอง  มีเด็กซึ่งไม่ได้เข้าเรียนในสถานศึกษาอาศัยอยู่ด้วย  ต้องแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  แล้วแต่กรณี  ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เด็กมาอาศัยอยู่  เว้นแต่ผู้ปกครองได้อาศัยอยู่ด้วยกับผู้นั้น
มาตรา  13  ผู้ปกครองที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา  6  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
…………………………………………………………………………………………
4. ท่านเข้าใจว่า หากมีใครเข้ามาปฏิบัติการสอนในโรงเรียนที่เปิดการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  
กรณีสอนทั้งปีที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูนั้น  สามารถมาปฏิบัติการสอนได้หรือไม่  ถ้าไม่ได้มีความผิดหรือบทกำหนดโทษอย่างไร  ถ้าได้จะต้องกระทำอย่างไรมิให้ผิด ตามพระราชบัญญัตินี้
ตอบ 
สามารถมาปฏิบัติการสอนได้   แต่ต้องมีคุณสมบัติการพิจารณาอนุญาต  ดังต่อไปนี้
             ๑. มีอายุไม่ต่ำกว่า  ๒๐ ปี
             ๒. มีคุณวุฒิตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
                           (๑) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา   หรือเทียบเท่า
                           (๒) มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี  ที่ก.ค.ศ.รับรอง  ซึ่งกำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู  และเป็นวุฒิปริญญาในสาขาที่สอดคล้องกับระดับชั้นที่เข้าสอน  ตามที่คุรุสภากำหนด ยกเว้นโรงเรียนในพระราชดำริ  โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนโครงการพิเศษต่างๆ  ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานต้นสังกัด และมีคะแนนเฉลี่ย ๒.๕ ขึ้นไป โรงเรียนถิ่นทุรกันดาร หรือโรงเรียนเสี่ยงภัย ตามประกาศของทางราชการ และจัดให้มีการอบรมในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนเบื้องต้นด้วย
             ๓. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖
            ๔. การให้ความรู้สาขาต่างๆในโรงเรียนโดยได้รับการเรียนเชิญจากโรงเรียน  ดำเนินการให้ความรู้ ได้แก่ วิทยากรด้านต่างๆ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ
…………………………………………………………………….
5. สมบัติ เป็นครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ได้ประพฤติผิดกระทำทารุณกรรมต่อเด็กหรือเยาวชน  หากเราพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546   จะต้องทำอย่างไร  และมีบทลงโทษอย่างไร
ตอบ
หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  เมื่อเด็กหรือเยาวชนถูกกระทำอันเป็นการทารุณกรรม จะต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก อันได้แก่
มาตรา 40  เด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ได้แก่ เด็กที่ถูกทารุณกรรม  เด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด และเด็กที่อยู่ในสภาพที่จะต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 41   ให้ผู้พบเห็นพฤติการณ์ที่มีการทารุณกรรมต่อเด็กให้รีบแจ้งต่อพนักงาน  เจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจโดยทันทีและให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแยกตัวเด็กจากครอบครัวโดยเร็วที่สุด
มาตรา 42   การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก   ต้องจัดให้มีการรักษาทางร่างกายและจิตใจทันที ถ้าเจ้าพนักงานเห็นสมควร อาจส่งตัวเด็กไปสถานแรกรับก่อนก็ได้ในระหว่างการสืบเสาะและพินิจเพื่อหาวิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสม
บทกำหนดโทษ
มาตรา ๗๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา ๗๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ มาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๖๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
…………………………………………………………………………………………………………

6. ช่วงที่นักศึกษาไปทดลองสอนที่โรงเรียนเทอม 2  และในเทอมต่อไป นักศึกษาเข้าไปทดลองสอนจริง นักศึกษาคิดว่าจะนำกฎหมายการศึกษาไปใช้โดยกำหนดคนละ 2 ประเด็นที่คิดว่าจะนำกฎหมาย  ไปใช้ได้ พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ตอบ
1.  นำกฎหมายการศึกษาไปใช้ในเรื่อง ระเบียบการลงโทษนักเรียน  โดยพึงระลึกไว้เสมอว่า 
ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษามอบหมาย เป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา การว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรงการทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนดและให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
2.  นำกฎหมายการศึกษาไปใช้ใน เรื่อง  แนวการจัดการศึกษา  โดยการจัดการศึกษาที่ยึดหลักว่า
ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ผู้เรียนทุกคน สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้   ดังนั้นกระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ   การจัดการศึกษาทั้งสามรูปแบบในหมวด 3 ต้องเน้นทั้งความรู้ คุณธรรม และ กระบวนการเรียนรู้  ในเรื่องสาระความรู้ ให้บูรณการความรู้และทักษะด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ ละระดับการศึกษา ได้แก่  ด้านความรู้เกี่ยวกับตนเองและความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา ด้านภาษา โดยเฉพาะการใช้ภาษาไทย ด้านคณิตศาสตร์ ด้านการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข   ในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับ ความสนใจ ความถนัดของผู้เรียน และความแตกต่างระหว่างบุคคล รวมทั้งให้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการการเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้ป้องกันและแก้ปัญหา จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริง ผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างสมดุล และปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดี คุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา  นอกจากนั้น ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ยังต้องส่งเสริมให้ผู้สอน จัดบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินงาน และการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ การประเมินผลผู้เรียน ให้สถานศึกษาพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความ ประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบ ส่วนการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ ให้ใช้วิธีการที่หลากหลายและนำผลการประเมินผู้เรียนมาใช้ประกอบด้วย หลักสูตรการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท ต้องมีความหลากหลาย โดยส่วน กลางจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นความเป็นไทยและความเป็นพลเมืองดี การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อและให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดทำหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และคุณลักษณะของสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชนสังคมและประเทศชาติ สำหรับหลักสูตรการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพิ่มเรื่องการพัฒนาวิชาการ วิชาชีพชั้นสูงและการค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และสังคมศึกษา
.................................................................................................................................
7. ให้นักศึกษาสะท้อนความคิดการใช้ เว็บล็อก (weblog) ในการนำมาใช้จัดการเรียนการสอนวิชานี้   พอสังเขป


ตอบ 
การใช้เว็บบล็อก (weblog) ในการนำมาใช้จัดการเรียนการสอนวิชานี้   มีจุดเด่นและก่อเกิดประโยชน์มากมายต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา   ก็คือ สามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง   ที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก (ผู้สอน)  และผู้อ่านบล็อก (ผู้เรียน)  ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ชัดเจนของบล็อกนั้นผ่านทางระบบต่างๆของเว็บบล็อก  สามารถเรียนรู้กระบวนการทำงาน  เป็นแหล่งความรู้ใหม่ๆ ที่ถูกต้องและชัดเจน  การค้นหาข้อมูลเฉพาะด้านใน Blog ต่างๆ ก็ทำให้เราค้นพบความรู้ และผู้มีความรู้ความชำนาญในด้านต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น   ทำให้ทันต่อเหตุการณ์ในโลกปัจจุบัน เพราะข่าวสารความรู้ มาจากผู้คนมากมาย(ทั่วโลก)   และมักจะเปลี่ยนแปลงได้ทันกับเหตุการณ์ปัจจุบันเสมอ  อีกทั้งไม่ต้องใช้ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ชั้นสูงก็สามารถทำได้   ไม่ต้องขอพื้นที่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเหมือนเว็บไซต์ทั่วไป   สามารถบรรจุภาพนิ่ง เสียง และภาพเคลื่อนไหวเหมือนเว็บไซต์ทั่วไปได้   สามารถใช้งานหรือปรับแต่งให้สวยงามได้ด้วยตนเอง นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี   ทำให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการทำงานได้หลายอย่าง   และสามารถเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่น ๆ ได้ตามต้องการ   เว็บบล็อกจะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนหรือผู้เรียนกับผู้เรียนได้ตลอดเวลา   ทุกสถานที่ที่มีอินเตอร์เน็ตใช้   ผู้เรียนสามารถค้นคว้าความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทเรียนได้จากเว็บไซต์อื่นได้มากมายมหาศาล   ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงสาระของเนื้อหาที่สอนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น    ดังนั้นการใช้เว็บบล็อกในการเรียนการสอน  จึงเป็นสื่อการสอนอีกชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้ครูอาจารย์จัดการเรียนการสอนได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น